ขยะทะเล…แก้ได้ที่ตัวเรา
ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งมีปริมาณมากถึง 22.8 ล้านกิโลกรัม (ข้อมูล ณ ปี 2564) ขยะทะเลที่เราเห็นเวลาไปเที่ยวหรือตามข่าวมีต้นกำเนิดหลัก ๆ มาจากบนบก 80% และอีก 20% เกิดในทะเล อาทิ การท่องเที่ยวโดยเรือและบริเวณชายฝั่ง หลุมฝังกลบขยะที่เกิดจากน้ำเอ่อล้นในช่วงฝนตกหนักช่วยพัดพาขยะลงสู่ทะเล การจัดการขยะที่ไม่เหมาะสมของภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิต การขนส่งสินค้าทางเรือ การทำประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แท่งขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและภัยพิบัติ ฯลฯ จากขยะชิ้นเล็กชิ้นเดียว ค่อย ๆ สะสมรวมกันทีละนิดจนกลายเป็นจำนวนมหาศาล เมื่อมันไหลลงสู่ทะเลแล้วจะถูกกระแสน้ำและลมพัดพากระจายไปทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะลอยอยู่บนผิวน้ำ กลางมวลน้ำ และอยู่ใต้น้ำลึก ประเทศไทยโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ทำการศึกษาและติดตามปริมาณขยะทะเลที่ไหลมาตามปากแม่น้ำสายหลัก อาทิ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 – 2564 รวมระยะเวลากว่า 5 ปี พบว่า ขยะมีปริมาณลดลง แต่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการควบคุมโรค โดยขอความร่วมมือให้ประชาชนจำกัดการเดินทางและเน้นการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ทำให้มีการใช้บริการสั่งซื้อสินค้าและอาหารในรูปแบบเดลิเวอรีเพิ่มขึ้น เพราะการสั่งอาหาร 1 ครั้ง บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ได้กลับมาไม่ว่าจะเป็น กล่องหรือถุงพลาสติกบรรจุตัวอาหาร พลาสติกที่บรรจุน้ำจิ้ม ซอส น้ำซุป หนังยางรัด ช้อน-ส้อมพลาสติก และมีพลาสติกรวมอาหารถุงใหญ่ ซึ่งส่งผลให้เกิดปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นตามมา
ในปัจจุบันนี้ ขยะทะเลเริ่มมีแนวโน้มวิกฤติและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างที่ทุกประเทศไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศในทะเล สัตว์ทะเลหายาก และระบบเศรษฐกิจ อาทิ ลดความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวบริเวณนั้น ๆ เช่น เกาะลันตา จ.กระบี่ หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต ชายหาดพัทยาและชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี ที่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการจำนวนมากทั้งคนไทยและต่างชาติ ทำให้พบขยะทะเลสะสมปริมาณมากโดยเฉพาะเศษพลาสติก ขยะบางประเภทมีพิษและอันตรายที่ทำลายสายใยอาหารในระบบนิเวศ สัตว์จำนวนมากตายจากการกินขยะพลาสติกเข้าไป เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหาร ยกตัวอย่างกรณีการจากไปของน้องมาเรียม พะยูนแสนน่ารัก โดยทีมแพทย์ได้ทำการผ่าพบเศษพลาสติกอุดตันลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เกิดการสะสมของแก๊สในทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสโลหิตและรอยช้ำจากการเกยตื้น ก่อให้เกิดความเจ็บปวดจนช็อค ยังไม่รวมถึงสัตว์ชนิดอื่น ๆ อีกจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อขยะทะเลจากการถูกเศษแห อวน หรือเชือกรัดพันตัวทำให้ไม่สามารถขึ้นมาหายใจได้ รวมถึงพบแหและอวนที่มาจากเรือทำการประมงปกคลุมแนวปะการังโดยเฉพาะบริเวณกองหินไกลฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยฝูงปลา
เมื่อปัญหาขยะทะเลกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ควรให้ความสำคัญ ประเทศไทยจึงได้เร่งดำเนินการโดยกำหนดให้ปัญหาขยะมูลฝอยและขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ ที่ได้กำหนดแผนบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว อาทิ แผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561 – 2573) รวมถึงแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล พ.ศ. 2564 – 2568 (ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris, 2021 – 2025) นำมาสู่กิจกรรมและโครงการที่จะบริหารจัดการขยะทะเลอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยลดปริมาณและป้องกันการเกิดขยะขึ้นใหม่ อาทิ จัดเก็บขยะตกค้างในระบบนิเวศที่สำคัญแบบมีส่วนร่วม จัดทำมาตรการลดปริมาณขยะในพื้นที่เป้าหมาย จัดเก็บขยะร่วมกับหน่วยงาน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา จัดเก็บขยะโดยใช้ทุ่นกักขยะ (Boom) ทุ่นกักขยะลอยน้ำ (SCG-DMCR Litter Trap) เรือเก็บขยะ (Garbage Boat) เก็บขยะชายหาดสากล (International Coastal Cleanup Day) เป็นต้น ซึ่งสามารถจัดเก็บขยะที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลได้ถึง 4.43 แสนกิโลกรัม หรือประมาณ 4 ร้อยกว่าตัน คิดเป็นขยะ 3.95 ล้านชิ้น โดยองค์ประกอบของขยะตกค้างชายฝั่งส่วนใหญ่ที่พบเป็นขยะพลาสติกถึง 83% เช่น ขวดเครื่องดื่มพลาสติก ถุงพลาสติก เศษโฟม เป็นต้น
เมื่อเราไปเที่ยวที่ไหนก็ตาม เราต่างก็คาดหวังความสวยงามในสถานที่ที่เราไป มองแล้วให้ความรู้สึกสบายตาหรือดีต่อใจ มาช่วยกันลงมือทำโดยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่จะสามารถช่วยได้คือลดการใช้พลาสติก เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช่แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) แยกขยะให้ถูกประเภท เวลาไปเที่ยวไม่ว่าจะเป็นทะเลหรือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่น ถ้าหากหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกไม่ได้ก็ควรที่จะเก็บกลับออกมาด้วย การร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาจากหลาย ๆ ภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญมาก ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดที่ใกล้กับชายฝั่งทะเล หรือแม้แต่ตัวนักท่องเที่ยวเอง ไม่โยนความรับผิดชอบให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีการสร้างข้อบังคับ กฎระเบียบ ให้ปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด นอกจากจะได้สถานที่ท่องเที่ยวที่สะอาด สวยงาม น่าอยู่ ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ ยังเป็นการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากไม่ให้ถูกทำร้ายหรือสูญพันธุ์และอยู่กับเราไปนาน ๆ เพราะทรัพยากรธรรมชาติบางประเภทไม่สามารถที่จะประเมินค่าได้ หรือมีมูลค่าเกินกว่าที่จะตีเป็นราคา หากธรรมชาติเริ่มอ่อนแอ มนุษย์เราก็อยู่ยากเช่นกัน
จัดทำบทความโดย : นางสาวธิดาดาว พลไตร
เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม
ที่มา
คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
https://km.dmcr.go.th/c_260
https://www.euronews.com/green/2021/06/22/ranked-the-top-10-countries-that-dump-the-most-plastic-into-the-ocean
บทความ
-
“ป่าในเมือง” (Urban Forest)
By Mr. John 3h ago -
E-Waste ขยะใกล้ตัวที่รอการแก้ปัญหา
By Mr. John 3h ago -
การบริหารจัดการนำ้
By Mr. John 3h ago -
ขยะพลาสติก
By Mr. John 3h ago